กรณีเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย และมีทรัพย์สินจำนวนมากบ้าง น้อยบ้างที่ตกทอดแก่ทายาท บรรดา ทรัพย์สินบางอย่างนั้น ต้องมีการจดทะเบียนการได้มา มิฉะนั้น สิทธิของผู้ได้มาจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ ตัวอย่าง เช่น เจ้ามรดกมีทรัพย์สินซึ่งมีทะเบียนเป็นโฉนดที่ดิน ,หนังสือรับรองการทำประโยชน์ น ส. 3 , ทะเบียนอาวุธปืน, ทะเบียนรถยนต์, เงินฝากธนาคาร ซึ่งทรัพย์บางอย่างเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าโดยตำแหน่งจะไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนให้ หากไม่มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อน โดยบุคคลที่สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ก็คือ ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย โดยยื่นคำร้องต่อศาลที่เจ้ามรดกมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลในขณะถึงแก่ความตาย ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้ยื่นต่อศาลที่ทรัพย์มรดกอยู่ในเขตศาล
เอกสารที่เกี่ยวข้องในการยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก มีดังนี้
1. ทะเบียนบ้านของผู้ตายที่มีภูมิลำเนาครั้งสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย
2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ตาย , ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล ผู้ตาย
3. ใบสำคัญการจดทะเบียนสมรสระหว่างผู้ตายกับทายาทโดยธรรม (ภรรยา )
4. ใบมรณะบัตรของผู้ตาย
5. ทะเบียนบ้าน/บัตรประจำตัวประชาชนของทายาทโดยธรรมทุกคน
6. พินัยกรรม ในกรณีผู้ตายทำพินัยกรรมไว้และได้ระบุไว้ในพินัยกรรมว่าผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก
7. ในกรณีที่ศาลได้มีคำสั่งให้สาบสูญจะต้องมีคำสั่งของศาลว่าได้มีคำสั่งสาบสูญพร้อมกับประกาศ ราช กิจจานุเบกษา ซึ่งได้ประกาศคำสั่งสาบสูญดังกล่าว
8. บัญชีทรัพย์สินของผู้ตายทั้งหมดหรือเท่าที่ทราบ ในกรณีที่ทรัพย์ของผู้ตายเป็นทรัพย์ที่มีหลักฐานทางทะเบียน เช่น โฉนดที่ดิน , หนังสือรับรองการทำประโยชน์ น.ส. 3 , ส. ค 1 , ทะเบียนอาวุธปืน , ทะเบียนรถจักรยานยนต์ , สมุดบัญชีเงินฝากในธนาคาร ซึ่งเป็นเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก
9. หนังสือยินยอมของทายาทโดยธรรม หรือทายาทผู้รับพินัยกรรมที่จะให้ตั้งผู้จัดการมรดก
10. บัญชีเครือญาติ
สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ บุคคลผู้ร้องขอให้ศาลตั้งเป็นผู้จัดการมรดกนั้นต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย คือ
1. บุคคลซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
2. บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
3. บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย
เมื่อศาลมีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว หน้าที่ของผู้จัดการมรดก มีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ทายาททุกคนตามกฎหมาย ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้น ผู้จัดการมรดกต้องมีจิตสำนึกว่าเป็นการจัดการแทนทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกในกรณีเจ้ามรดกไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ หรือจัดการแทนผู้รับพินัยกรรมในกรณีที่มีการทำพินัยกรรม มิใช่กระทำเพื่อตัวผู้จัดการมรดกเอง ผู้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกได้จึงต้องเป็นผู้ที่เสียสละและมีความซื่อสัตย์สุจริต เพราะถ้ากระทำไปเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวแล้วก็จะมีความผิดตามกฎหมายด้วย เช่น เบียดบังทรัพย์มรดกเป็นของตนเองแล้วก็จะเป็นการกระทำความผิดทางอาญาข้อหายักยอกทรัพย์มรดก เป็นต้น
Commentaires