ทรัพย์แบ่งไม่ได้ เป็นทรัพย์ที่เมื่อแยกออกจากกันจะเปลี่ยนแปลงรูปทรงไป ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 142 ว่า “ทรัพย์แบ่งไม่ได้ หมายความว่าทรัพย์อันจะแยกออกจากกันไม่ได้นอกจากเปลี่ยนแปลงภาวะของทรัพย์ และหมายความรวมถึงทรัพย์ที่มีกฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้ด้วย” ดังนั้น ทรัพย์แบ่งไม่ได้จึงหมายถึงทรัพย์ต่อไปนี้
1) ทรัพย์ที่แยกออกจากกันไม่ได้ นอกจากเปลี่ยนแปลงภาวะของทรัพย์ หมายถึง โดยสภาพของตัวทรัพย์นั้นเองที่หากแยกออกจากกันจะเปลี่ยนรูปทรงไป เช่น บ้าน รถยนต์ สัตว์ นาฬิกา แว่นตา เสื้อ กางเกง สิทธิจำนอง ทรัพย์ส่วนควบ เป็นต้น
2) ทรัพย์ที่กฎหมายบัญญัติว่าแบ่งไม่ได้ หมายถึง ทรัพย์ที่โดยสภาพของตัวมันเอง อาจเป็นทรัพย์ที่แบ่งได้ก็ได้ แต่มีกฎหมายบัญญัติห้ามแบ่งไว้ ทรัพย์ประเภทนี้หากไปทำการแบ่งจะไม่มีผลแต่อย่างใด ผู้ที่ได้ส่วนแบ่งของทรัพย์นี้ไปจะไม่ได้สิทธิใดๆ ในทรัพย์นั้นเลย ตัวอย่างเช่น หุ้นในบริษัทจำกัด ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1118 บัญญัติไว้ว่า “อันหุ้นนั้นท่านว่าจะแบ่งแยกหาได้ไม่ ฯลฯ” ดังนั้น หุ้นในบริษัทจึงเป็นทรัพย์ที่แบ่งไม่ได้ เป็นต้น
Comentários