การกำหนดเงินเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะทำการยึดบรรดาทรัพย์สินของลูกหนี้ เก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่น โดยลูกหนี้ต้องห้ามมิให้กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ซึ่งมีปัญหาว่าลูกหนี้จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างไรในระหว่างที่ยังไม่พ้นจากการล้มละลาย คำตอบอยู่ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 67 (1) กล่าวคือ ลูกหนี้จะต้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดจำนวนเงิน เพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูปโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้อนุญาตให้ลูกหนี้จ่ายจากเงินที่ลูกหนี้ได้มาในระหว่างล้มละลาย และลูกหนี้จะต้องส่งเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือนั้นแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดพร้อมด้วยบัญชีรับจ่าย เงินที่ลูกหนี้จะขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพตัวลูกหนี้และครอบครัวดังกล่าวจะต้องเป็นเงินที่ลูกหนี้ได้มาในระหว่างล้มละลายเท่านั้น หากเงินที่ได้มามีอยู่ก่อนล้มละลาย ไม่ใช่เงินที่ลูกหนี้ได้มาระหว่างล้มละลาย จะขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอามาจ่ายเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัวตาม มาตรา 67 (1) ไม่ได้
อนึ่ง ยังมีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป กล่าวคือ “มาตรา 121 ถ้าลูกหนี้เป็นข้าราชการ เมื่อศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีสิทธิรับเงินเดือน บำนาญ บำเหน็จ เบี้ยหวัด หรือเงินในทำนองเดียวกันนี้ของลูกหนี้จากเจ้าหน้าที่เพื่อรวบรวมแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ได้ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพของลูกหนี้และครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป
บทบัญญัติในวรรคก่อน ให้ใช้บังคับในกรณีที่ลูกหนี้มีสิทธิได้รับเงินจากบุคคลหรือองค์การอื่นที่มิใช่รัฐบาลด้วย”
Commentaires