(บทความที่ 12)
คัดลอกโดยอ้างอิง ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่
แนวความคิด ทฤษฎี และข้อมูลความรู้ไม่ใช่สิ่งที่กฎหมายลิขสิทธิ์คุ้มครองตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 6 วรรคสอง บุคคลสามารถที่จะนำแนวความคิด ทฤษฎี และข้อมูลความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้ตราบเท่าที่การใช้ประโยชน์ของบุคคลนั้นไม่เป็นการทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่น กล่าวคือหากนำแนวความคิด ทฤษฎี และข้อมูลความรู้ของบุคคลอื่นไปสร้างสรรค์งานวรรณกรรมของตน ก็จะต้องสร้างสรรค์งานนั้นขึ้นมาโดยมีเนื้อหารายละเอียดและลักษณะการแสดงออกซึ่งความคิดของตนเอง มิใช่เพียงแต่คัดลอกหรือเลียนแบบงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นในส่วนอันเป็นสาระสำคัญซึ่งถือว่าเป็นการทำซ้ำ หรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ หากกระทำไปโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 27 (1) ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฯ
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ในกรณีที่อ้างว่าเป็นการวิจัยและใช้เป็นเอกสารประกอบการสอนโดยไม่ได้แสวงหากำไร โดยมีการอ้างอิงที่มาของข้อความไว้แล้วนั้นประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการคือ (1) เป็นการกระทำต่างๆ ตามที่มาตรา 32 วรรคสอง และมาตรา 33 บัญญัติไว้ (2) การกระทำนั้นต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และ (3)การกระทำนั้นต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร
เมื่อความรู้นั้นบางครั้งต้องอาศัยสิ่งที่เกิดจากแนวความผิด ทฤษฎี ภูมิปัญญาหรือผลงานการค้นคว้า ของบุคคลที่ทำไว้ก่อนหน้า เช่น อาจารย์สอนนักศึกษา ก็ต้องอาศัยตำราที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งอาจมีข้อสงสัยว่าการนำตำราหรือผลงานทางวิชาการของผู้อื่นมาใช้ หรือมาแจกจ่ายให้กับนักเรียนนั้น ทำได้หรือไม่ หรือต้องขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่
กรณีเช่นนี้สามารถทำได้ เช่น อาจารย์นำงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ไปแจกจ่าย ให้นักศึกษาเพื่อการศึกษาโดยไม่ได้แสวงหากำไรใดๆ ไม่ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งข้อยกเว้นอื่นๆ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 32 อีกทั้งการคัดลอกผลงานมาแล้วก็ยังอ้างอิงถึงแหล่งที่มา โดยให้การใช้งานวิชาการนั้นไม่ให้ไปกระทบกับเจ้าของผลงานสามารถกระทำได้ ตามมาตรา 33