ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1437 การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิง เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น
เมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่หญิง
สินสอด เป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดา ผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง แล้วแต่กรณี เพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส ถ้าไม่มีการสมรสโดยมีเหตุสำคัญอันเกิดแก่หญิง หรือโดยมีพฤติการณ์ซึ่งฝ่ายหญิงต้องรับผิดชอบ ทำให้ชายไม่สมควรหรือไม่อาจสมรสกับหญิงนั้น ฝ่ายชายเรียกสินสอดคืนได้
ถ้าจะต้องคืนของหมั้นหรือสินสอดตามหมวดนี้ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 412 ถึงมาตรา 418 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
“ของหมั้น” คือทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนให้แก่ฝ่ายหญิง ไว้เป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงคนนั้น เพราะตามกฎหมายการหมั้นจะสมบูรณ์ต่อเมื่อชายคู่หมั้นส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงคู่หมั้นเท่านั้น ดังนั้น ทรัพย์สินที่หญิงให้แก่ชาย จึงไม่ถือเป็นของหมั้น และไม่ทำให้การหมั้นนั้นสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อหมั้นกันแล้วของหมั้นนั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของหญิงคู่หมั้นทันที โดย“ของหมั้น” ตามกฎหมายนั้น เช่น แก้ว แหวน เงิน ทอง บ้าน รถ ที่ดิน และยังอาจหมายความรวมถึงสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งอาจมีราคาและถือเอาได้ด้วย
“สินสอด” หมายถึง ทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้แก่บิดามารดาฝ่ายหญิงเพื่อตอบแทนการที่หญิงยอมสมรส โดยการให้สินสอดแก่กันนั้นจะต้องตกลงให้แก่กันก่อนสมรส แต่ทรัพย์สินที่เป็นสินสอดซึ่งตกลงจะให้นั้นจะมอบให้แก่ฝ่ายหญิงก่อนสมรสหรือหลังสมรสก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องมอบให้ในขณะทำสัญญาว่าจะให้ ซึ่งจะแตกต่างๆ กับเรื่องของหมั้นที่กฎหมายบังคับว่าจะต้องให้กันในเวลาหมั้นเท่านั้น โดยในการตกลงจะให้สินสอดนี้กฎหมายมิได้กำหนดแบบเอาไว้ ดังนั้นการตกลงให้สินสอดแก่ฝ่ายหญิงไม่ว่าจะตกลงด้วยวาจาหรือตกลงเป็นลายลักอักษรณ์ก็ถือได้ว่ามีการตกลงจะให้สินสอดแก่กันตามกฎหมายแล้ว
Comments