เจตนาในทางอาญาจะต้องมีองค์ประกอบ 2 อย่าง คือ
รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบ ภายนอกของความผิดนั้น
รู้สํานึกในการกระทําและขณะเดียวกันผู้กระทําต้องประสงค์ต่อผล หรือ ย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น
หลักสําคัญประการแรกที่จะถือว่าผู้กระทํามีเจตนาได้นั้น ผู้กระทําต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดในมาตรานั้น ๆ หากผู้กระทําไม่รู้ ถือว่าไม่มีเจตนา เช่น ความผิดตามมาตรา 288 “ผู้ใดฆ่าผู้อื่นต้องระวางโทษ” การที่จะถือว่า ผู้กระทํามีเจตนาตามมาตรา 288 ได้นั้น ผู้กระทําต้องรู้ข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทําของตนเป็นการฆ่า และต้องรู้ด้วยว่าวัตถุที่กระทําเป็นผู้อื่น (เป็นคน) หากการไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดเกิดขึ้นเพราะความประมาทของผู้กระทํา ผู้กระทําต้องรับผิดฐานกระทําโดยประมาท หากมีกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไว้ หลักการที่สองที่จะถือว่าผู้กระทํามีเจตนานั้น ผู้กระทําต้องรู้สํานึก (รู้สึกตัว) ในการกระทําและขณะเดียวกันผู้กระทําต้องประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็น ผลของการกระทํานั้น หากขาดข้อใดข้อหนึ่งย่อมไม่เป็นเจตนา
ส่วนเจตนาพิเศษในความผิดอาญาบางมาตรา นอกจากผู้กระทําจะต้องมีเจตนาธรรมดาแล้ว ผู้กระทําจะต้องมีเจตนาพิเศษอีกด้วย จึงจะเป็นความผิดในเรื่องนั้น ๆ เจตนาพิเศษ คือ มีมูลเหตุจูงใจในการกระทํา ในมาตราใดที่ต้องการเจตนาพิเศษนอกเหนือจากเจตนาธรรมดา ให้ดูในมาตรานั้นมีคําว่า “เพื่อ” หรือ “โดยทุจริต” เช่น ความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา 264 จะต้องกระทําเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง จึงจะเป็นความผิด หรือความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 การเอาทรัพย์ไปนั้นจะต้องเอาไปเลย หรือที่เรียกว่าเอาไปโดยตัดกรรมสิทธิ์ เช่น เอาไปขาย เอาไปเป็น ของตนเอง หากเอาไปชั่วคราวก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์
ดังนั้น การวินิจฉัยความผิดทางอาญาของบุคคลผู้กระทำนั้นจะต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบของเจตนาให้ครบถ้วนทั้งสองอย่าง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคสองประกอบวรรคสาม หากขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปแล้วย่อมไม่ครบองค์ประกอบความผิดของกฎหมายและไม่อาจถือได้ว่าผู้กระทำมีเจตนาเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาได้
เยี่ยม