“แชร์ลูกโซ่” หมายถึง รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มุ่งประสงค์ เพื่อหารายได้จากการระดมทุนเป็นหลัก โดยมีการสัญญาว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ ที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินในระยะเวลาอันสั้นโดยผู้ประกอบการมักอ้างถึงการนำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีรายได้สูงเพียงพอที่จะปันรายได้แจกจ่ายผู้ร่วมธุรกิจได้อย่างทั่วถึง มีการให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ร่วมลงทุนในระยะแรก ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและกระตุ้นให้เกิดการชักจูงให้เข้าร่วมลงทุน แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ได้มีการประกอบธุรกิจใด ๆ ที่จะให้ผลประโยชน์ตอบแทนตามที่กล่าวอ้างกับผู้ร่วมลงทุน แต่จะใช้วิธีการนำเงินลงทุนของสมาชิกใหม่หมุนเวียนมาจ่ายให้สมาชิกเก่า และเมื่อไม่สามารถหาสมาชิกใหม่มาลงทุนเพิ่มได้ ก็จะไม่มีเงินมาจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนตามที่สัญญาไว้และในที่สุดก็ต้องปิดกิจการหนีไป การกระทำดังกล่าวถือเป็นการจัดคิวเงิน กล่าวคือ เป็นเพียงวิธีโยกย้ายเงิน ไม่ได้มีการนำไปลงทุนตามที่กล่าวอ้างแต่ประการใด ดังนั้น ผลประโยชน์ตอบแทนที่นำมาจ่ายให้แก่ประชาชนก็คือ เงินที่ประชาชนนำมาลงทุนนั่นเอง ซึ่งเราเรียกการกระทำดังกล่าวว่า "แชร์ลูกโซ่"
ปัจจุบัน "แชร์ลูกโซ่" ได้พัฒนารูปแบบกลโกงมากยิ่งขึ้น มีการแอบอ้างธุรกิจที่มีการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายหรือธุรกิจแบบใหม่มาหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว ดอกเบี้ยในตลาดการเงินตกต่ำ อัตราการว่างงานของประชากรสูงขึ้น กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้จะอาศัยความได้เปรียบด้านข้อมูลข่าวสารและนำมาใช้เป็นช่องทางในการโฆษณาชักชวนให้ประชาชนนำเงินมาลงทุนในธุรกิจรูปแบบต่างๆ โดยมีการแฝงตัวและปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อย ๆ ซึ่งพบว่าจะแฝงเข้ามาในลักษณะต่างๆ ดังนี้
1. อ้างว่านำเงินไปร่วมลงทุนกับบริษัทต่างประเทศ ผลตอบแทนสูง
2. ลงทุนระยะสั้น ได้ผลตอบแทนเร็ว คืนทุนภายใน 1-3 เดือน หรือได้ผลตอบแทนรายเดือน
3. ให้สมาชิกชำระเงินค่าสมัครอย่างเดียว ไม่ต้องทำอะไรเลย รอครบกำหนดได้รับผลตอบแทน เน้นการหาสมาชิก แบ่งค่าหัวคิว
4. มีการจัดฉาก นำเสนอความร่ำรวย ใช้ผู้มีชื่อเสียง เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุน
กล่าวโดยสรุป "แชร์ลูกโซ่" คือวิธีการหลอกลวงหรือฉ้อโกงอีกรูปแบบหนึ่ง โดยใช้วิธีการชักชวนให้นำเงินมาลงทุนโดยสัญญาว่าจะจ่ายผลตอบแทนให้ในอัตราสูงแล้วใช้วิธีการหลอกลวงนำเงินของผู้ลงทุนหลบหนีไป นักลงทุนในขบวนการแชร์ลูกโซ่ หากไม่ได้รับเงินลงทุนและผลตอบแทนใด ๆ หรือได้รับเงินลงทุนหรือผลตอบแทนคืนมาน้อยกว่าเงินที่สมัครสมาชิกหรือที่ร่วมลงทุนไป บุคคลนั้นถือเป็น “ผู้ได้รับความเสียหาย”
ส่วนของบุคคลหรือนิติบุคคลที่หลอกลวง โฆษณา ชักชวนประชาชน ให้นำเงินมาลงทุน สมัครสมาชิก หรือร่วมทุนในกิจการใดๆ โดยไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนได้ตามที่กล่าวอ้าง การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และในขณะเดียวกัน บุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวง เช่น ผู้บรรยายแผนการตลาด บุคคลต่างๆที่มาช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน วิทยากร แม่ทีม ผู้ชักชวน ก็อาจเข้าข่ายกระทำความผิดเกี่ยวกับการเล่นแชร์ลูกโซ่ได้เช่นกัน แต่จะพิจารณาตามพฤติการณ์ข้อเท็จจริง และองค์ประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นกรณีไป
Comments