การครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา10 ปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์” ที่ดินที่จะถูกครอบครองปรปักษ์ได้ จะต้องเป็นที่ดินของผู้อื่นที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ (โฉนดที่ดิน, โฉนดแผนที่, โฉนดตราจองตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว แต่ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) จะถูกครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ คงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น แต่กรณีหากมีการเปลี่ยนจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เป็นโฉนดที่ดินย่อมต้องนับระยะเวลาตามกฎหมายว่าด้วยการครอบครองปรปักษ์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382
อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 299/2560
การร้องขอให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 นั้น เป็นการโต้แย้งเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่น ซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะมีได้แต่ในที่ดินที่มีโฉนดเท่านั้น จึงจะถือว่าผู้ร้องขอมีเจตนาครอบครองอย่างเป็นเจ้าของได้ ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็นอย่างอื่น เช่น หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่ผู้ครอบครองมีเพียงสิทธิครอบครองนั้น ไม่สามารถร้องขอครอบครองปรปักษ์ได้ ที่โจทก์บรรยายฟ้องตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และภริยาโดย ส. ยกให้ขณะที่ดินมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) จึงเป็นการบรรยายถึงที่มาแห่งการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ว่า โจทก์ได้สิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทมาอย่างไร หากเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิผู้อื่น มีการบอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือหรือไม่ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ถือว่าการครอบครองของโจทก์เป็นการปรปักษ์ต่อเจ้าของเพราะที่ดินพิพาทยังมิได้มีการออกโฉนดที่ดิน ต่อเมื่อที่ดินพิพาทมีการเปลี่ยนจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นโฉนดที่ดินแล้ว ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์แสดงความเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทได้ การครอบครองปรปักษ์จึงจะต้องเริ่มต้นนับระยะเวลาตั้งแต่นั้น ตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382
Comments