หลายคนอาจจะไม่ทราบว่ากรณีที่หญิงชายมีความสัมพันธ์กันจนมีบุตรขึ้นมาในขณะที่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันในกรณีเช่นนี้เมื่อเด็กเกิดมาเด็กจะเป็นเพียงบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาเพียงฝ่ายเดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546
เพื่อให้เด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาหรือชายที่มิได้จดทะเบียนสมรสดัวยนั้น กฎหมายจึงได้มีบัญญัติวิธีการรับรองบุตรให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา และยังมีผลให้เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาย้อนไปถึงวันที่เด็กเกิดด้วย ดังนี้
บิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อบิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกัน บุตรที่เกิดมาก่อนแล้วก็จะกลายเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาไปด้วย
บิดาดำเนินการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและได้รับความยินยอมจากทั้งมารดาและเด็ก
ร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งศาลเพื่อให้สามารถดำเนินการจดทะเบียนรับรองเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา
ดังนั้น เด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร หากมีพฤติการณ์การรับรองบุตรนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เช่น การให้บุตรใช้ชื่อสกุลของบิดา และการที่บิดาอุปการะเลี้ยงดูบุตรอย่างบิดากับบุตร จึงไม่ใช่เหตุที่กฎหมายรับรองทำให้เด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้ บิดาจึงไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กนั้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2553)
Commentaires