การที่ลูกจ้างได้ไปกระทำละเมิดทำให้บุคคลภายนอกได้รับความเสียหายจากผลของการกระทำนั้น ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือประมาทก็ตาม หากผลของการละเมิดนั้นเกิดขึ้นในทางการที่จ้างของนายจ้างแล้ว นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับผลของการละเมิดนั้นด้วย ถือได้ว่าเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้แก่สังคม มิฉะนั้นก็จะเป็นกรณีที่ว่าเมื่อนายจ้างได้ประโยชน์แล้วจะถือเอาแต่ประโยชน์โดยฝ่ายเดียว แต่เมื่อใดที่ตนเองเสียประโยชน์แล้วนายจ้างจะไม่ยอมรับผิดก็จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่บุคคลอื่น ซึ่งมิได้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในธุรกิจนั้น ดังนั้นเมื่อผลของการละเมิดทำความเสียหายให้แก่บุคคลใด นายจ้างต้องร่วมรับผิดชอบในผลแห่งการนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 ที่ระบุว่า นายจ้างต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิด ซึ่งลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10313/2559
ว. เป็นคนขับรถของ ส. มิใช่คนขับรถของโจทก์ โจทก์เป็นเพียงผู้โดยสารมาในรถตู้คันที่ ว. ขับในขณะเกิดเหตุโจทก์จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับความเสียหายจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และ ว. ซึ่งกระทำร่วมกัน ส่วน ส. แม้จะเป็นเจ้าของรถตู้คันเกิดเหตุและโดยสารมาในรถตู้คันดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส. มีส่วนประมาทเลินเล่อในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การที่ ส. ถึงแก่ความตายจึงเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และ ว. ซึ่งจำเลยที่ 1 กับ ว. ต้องร่วมกันรับผิดต่อเด็กหญิง ณ ในผลแห่งการตายของ ส. ด้วยเช่นกัน จำเลยที่ 1 และ ว. จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ณ และจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจำเลยที่ 1 ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425
Comments