สามี-ภรรยากับสิทธิสินสมรส เมื่อมีการจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายหลังจากงานแต่งงาน สามี-ภรรยาจะมีความสัมพันธ์ในเรื่องทรัพย์สินที่เป็นสินสมรส โดยสามี-ภรรยาเป็นเจ้าของทรัพย์สินต่าง ๆ ร่วมกัน สามี-ภรรยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกัน หรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ในกรณีการจัดการสินสมรสที่สำคัญ ๆ เช่น
- ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
- ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
- ให้กู้ยืมเงิน ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูป
- ฯลฯ
การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6286/2562
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 บัญญัติว่า "การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน" ตามบทบัญญัติดังกล่าว คำว่าโดยสุจริตมีความหมายว่า ขณะที่ทำนิติกรรมบุคคลภายนอกไม่อาจทราบว่าเป็นการทำนิติกรรมผูกพันสินสมรสที่ต้องได้รับความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง
ขณะทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้น จำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเป็นสินสมรสและโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรม คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการทำนิติกรรมโดยสุจริต
Comments