เมื่อมีการกระทําความผิดอาญาเกิดขึ้นก็ต้องมีการดําเนินคดี โดยนําตัวผู้กระทําความผิดมาลงโทษตามที่กฎหมายกําหนด เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม การดําเนินการให้ได้ตัวผู้กระทําความผิดมาดังกล่าวต้องกระทําโดยไม่ชักช้า เพราะหากปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไป ย่อมมีผลโดยตรงต่อพยานหลักฐานในคดี เช่น ความจําของพยานบุคคลเสื่อมถอยลง หรือพยานหลักฐานเกิดเลือนราง หรือสูญหาย โอกาสเกิดความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในการพิสูจน์ความจริงยิ่งมีมากขึ้น ในส่วนของผู้กระทําความผิดการหลบหนีเงื้อมมือกฎหมาย ย่อมต้องทุกข์ทรมานอันถือเสมือนเป็นการได้รับโทษเช่นกัน นอกจากนี้กฎหมายยังประสงค์จะให้มีการลงโทษผู้ที่ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดในระยะเวลาอันสมควร ดังนั้น หากกําหนดเวลาล่วงพ้นไปจนไม่เกิด ประโยชน์ที่จะนําตัวผู้กระทําความผิดมาลงโทษแล้วก็เป็นการสมควรที่จะห้ามไม่ให้ฟ้องร้องดําเนินคดี หรือไม่สมควรที่จะบังคับโทษแก่ผู้กระทําความผิด หรือผู้ที่ต้องคําพิพากษาถึงที่สุดอีกต่อไป กําหนดเวลาดังกล่าวนี้เรียกว่า “อายุความ”
โดยอายุความที่จะกล่าวต่อไปนี้ คืออายุความฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96
มาตรา 96 “ภายใต้บังคับมาตรา 95 ในกรณีความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทําความผิด เป็นอันขาดอายุความ”
การฟ้องร้องคดีอาญาความผิดอันยอมความได้นี้ต้องปฏิบัติ 2 ขั้นตอนด้วยกัน คือ
1. ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทํา ความผิด
2. ต้องฟ้องร้องและได้ตัวผู้กระทําความผิดมายังศาลภายในกําหนดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95
ดังนั้น การฟ้องร้องคดีอาญาความผิดอันยอมความได้ที่ไม่ปฏิบัติให้ครบทั้ง 2 ขั้นตอนย่อมไม่ทําให้อายุความหยุดนับ กล่าวคือ แม้จะได้ร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทําความผิด แต่ฟ้องร้องและได้ตัวผู้กระทําความผิดมายังศาลเกินกําหนดเวลาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 คดีย่อมเป็นอันขาดอายุความ หรือได้ฟ้องร้องและได้ตัวผู้กระทําความผิดมายังศาลภายในกําหนดเวลาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 แต่ไม่มีการร้องทุกข์ไว้ภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทําความผิด คดีก็เป็นอันขาดอายุความเช่นเดียวกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8487/2561
ความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 348 ถ้าผู้เสียหายมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96
หลังจากทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ โจทก์สอบถามถึงเอกสารการนำเข้ารถยนต์และเอกสารการเสียภาษีรถยนต์ทั้งสองคันหลายครั้งจำเลยที่ 3 ผัดผ่อนเรื่อยมา จนกระทั่งโจทก์ได้รับแจ้งการยึดกับเหตุที่ถูกยึดรถยนต์ทั้งสองคันจากเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรในวันที่ 20 และ 22 กันยายน 2557 โจทก์จึงโทรศัพท์สอบถามจำเลยที่ 3 เกี่ยวกับการชำระภาษีนำเข้ารถยนต์ แสดงว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดว่าจำเลยที่ 3 เจตนาฉ้อโกงตนแล้ว อายุความร้องทุกข์จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 20 และ 22 กันยายน 2557 เมื่อโจทก์มิได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2558 พ้นกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39 (6) ที่โจทก์เพิ่งได้หลักฐานเกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์ไม่ถูกต้องและไม่ได้ชำระภาษีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 นั้น เป็นเรื่องของการหาหลักฐานในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด เช่นเดียวกับการสอบสวนเพื่อหาพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบแล้ว อันเป็นคนละกรณีกับที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว
*** หมายเหตุ
“รู้เรื่องความผิด” หมายถึง รู้ว่ามีการกระทำความผิด กล่าวคือรู้ข้อเท็จจริงที่ประกอบกันเป็นความผิด
“รู้ตัวผู้กระทำความผิด”หมายถึงรู้ตัวบุคคลที่กระทำความผิดว่าเป็นใครแม้จะไม่รู้จักชื่อและที่อยู่ก็ตาม
Kommentare